กว่าจะหาตำแหน่งงานดีๆ ที่ตนเองชอบ ยิ่งกับบริษัทนายจ้างที่ดี ที่แฟร์ทั้งเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไหนจะต้องแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่นมากมาย หรือ บริษัทในฝันของคุณไม่เปิดรับสมัครงานในตำแหน่งที่คุณต้องการ… ต้องสมัครงานแบบไหนดีล่ะ… Initiativbewerbung คือ อะไร
บทความนี้ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครงานในเยอรมนี ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณอย่างแน่นอนมาฝากค่ะ
ข้อมูลจากบทความนี้สามารถใช้ได้ทั้งสำหรับการหาตำแหน่งงานเพื่อเรียนสายอาชีพ หรือ การสมัครเข้าทำงานโดยตรงนะคะ
👉 ระบบการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung และ schulische Ausbildung นะคะ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ จาก บทความนี้ เลย ค่ะ
ไม่ว่าจะเป็นการสมัครงานโดยตรง หรือ สมัครเพื่อทำ Ausbildung สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่าง คือ การยื่นเอกสารสมัครงาน เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่แทบจะบอกได้ว่าคุณจะถูกเรียกตัวสัมภาษณ์งาน หรือ เอกสารของคุณสามารถดึงดูดความสนใจของฝ่ายบุคคลมากน้อยแค่ไหน
การยื่นเอกสารสมัครงานในเยอรมนี โดยปกติทั่วไปแล้วมี 2 แบบ คือ
1️⃣ การสมัครแบบปกติทั่วไป (klassische Bewerbung)
วิธีสมัครงานแบบนี้ คือ การหาตำแหน่งงานที่คุณต้องการในตลาดงาน ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ต่าง ๆ แม้กระทั้งเว็บไซต์ของบริษัทเองโดยตรง แล้วส่งใบสมัครสำหรับตำแหน่งนั้น ๆโดยตรง
แต่ยังมีการสมัครงานอีกแบบที่เป็นที่นิยมมากเช่นกัน นั้นคือ
2️⃣ การสมัครแบบ Initiativbewerbung
อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจไม่ได้ลงรับสมัครตำแหน่งงานที่ว่าง หรือ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตำแหน่งที่คุณต้องการ ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าคุณอยากทำงาน หรือฝึกอบรมกับบริษัทนั้น ๆ จริงๆ หรือ บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในฝันของคุณ คุณสามารถส่งใบสมัครไปยังบริษัทได้
การสมัครแบบนี้คือการยื่นสมัครไปยังบริษัทที่คุณต้องการ ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ลงประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งงานนั้น ๆก็ตาม เพื่อแนะนำตัวเองและกระตุ้นความสนใจของฝ่ายบุคคล ว่าคุณอยากทำงานกับบริษัท
หลายคนคงมีคำถาม…
„ถ้าบริษัทไม่ได้ประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งที่เราต้องการสมัคร แล้วการที่เรายื่นเอกสารสมัครงานไป จะไม่เสียเวลาเปล่าเหรอ“
อย่าลืมว่า ไม่ใช่ทุกตำแหน่งในบริษัทที่มีการประกาศรับสมัครผ่านเว็บไซต์หางานต่าง ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า บริษัทไม่ได้กำลังมองหาผู้สมัครที่เหมาะสมอยู่
ความแตกต่างของการสมัครงานทั้งสองแบบ คือ
โดยหลักแล้วการยื่นใบสมัครงานแบบนี้เป็นการแสดงความต้องการของคุณที่จะทำงานในบริษัท พร้อมทั้งแนะนำตัวเอง คุณสมบัติและความสามารถต่าง ๆของคุณ ส่วนการสมัครแบบทั่วไปนั้น เน้นที่ตำแหน่งงานที่คุณต้องการสมัครมากกว่า
หลายบริษัทยินดีรับใบสมัครแบบ Initiativbewerbung มากกว่าแบบทั่วไป ซึ่งคุณสามารถส่งได้ทั้งในรูปแบบใบสมัครออนไลน์และในรูปแบบเอกสารทางไปรษณีย์
อย่างเราเอง ช่วงที่ทำ Ausbildung สาขา E-Commerce อยู่ ฝ่ายบุคคลก็ต้องการใบสมัครที่เป็นแบบ Initiativbewerbung มากกว่า และ มีการแจ้งไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทอย่างชัดเจน
สาเหตุที่บริษัทยังไม่ลงประกาศรับสมัครงานตำแหน่งดังกล่าว คือ
- บริษัทต้องการรับสมัครเป็นการภายในก่อน เช่น ผู้ที่ทำการทดลองงานกับบริษัทอาจจะตกลงทำ Ausbildung ในตำแหน่งดังกล่าวต่อ หรือ Azubi ที่ทำ Ausbildung กำลังจะจบสิ้นลง และอาจจะตัดสินใจทำงานในตำแหน่งนั้น ๆต่อ
- สมัครผ่านคำแนะนำของพนักงานบริษัทเองก่อน
- ตำแหน่งงานดังกล่าวเพิ่งว่าง แต่บริษัทยังไม่มีเวลาลงประกาศรับสมัครงาน
- บริษัทยังไม่เคยเปิดรับฝึกอบรมในตำแหน่งดังกล่าว จนกระทั้งคุณยื่นใบสมัครไป
มาดูข้อดีและข้อเสียของการสมัครงานแบบ Initiativbewerbung กัน ว่ามีอะไรบ้าง
✅ ข้อดี
- คู่แข่งน้อย หรือไม่มีคู่แข่งโดยตรง เพราะบริษัทยังไม่ได้ลงประกาศรับสมัครงานตำแหน่งนั้นๆ
- บริษัทจะโฟกัสไปที่ความสามารถของคุณโดยตรง (ไม่มีเงื่อนไข ซึ่งปกติแล้วจะระบุไว้ในหน้าเว็บไซต์ที่ประกาศรับสมัครงาน)
- มีโอกาสได้งานในตำแหน่งที่ยังไม่ลงประกาศในตลาดแรงงานสูง
- บริษัทอาจจะปฏิเสธคุณ แต่คุณยังมีโอกาศได้งานกับบริษัทดังกล่าวในอนาคตอีก เพราะถึงแม้ว่าบริษัทจะตอบปฏิเสธ แต่เขายังจะเก็บเอกสารการสมัครงานของคุณไว้ในระบบต่อไป บริษัทอาจจะมีตำแหน่งว่าง หรือสนใจในความสามารถของคุณในอนาคตก็ได้
❌ ข้อเสีย
- จำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมมากพอสมควร เพราะคุณไม่สามารถอ้างถึงตำแหน่งงานที่มีการประกาศรับสมัครบนหน้าเว็บไซต์ต่างๆได้
- มีความเสี่ยง คือ คุณอาจจะเสียเวลาเปล่า เพราะตำแหน่งงานที่คุณต้องการไม่ว่าง
- ไม่รู้ว่าบริษัทต้องการทักษะและจุดแข็งเฉพาะด้านใดบ้าง อันนี้อาจจะยากต่อการเขียนจดหมายสมัครงาน (Anschreiben)
- เอกสารอาจจะไม่ถึงบุคคลที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง
ตัวอย่างการเขียนใบสมัครงานสามารถดูได้จากทางอินเตอร์เน็ตเลยค่ะ แต่อย่าลอกตัวอย่างมาทั้งหมดนะคะ ควรดูเป็นแบบอย่าง แล้วปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับคุณสมบัติที่คุณมี เพราะถ้าคุณคัดลอกมาทั้งหมด ฝ่ายบุคคลจะรู้ และคัดใบสมัครของคุณออกทันทีค่ะ
Initiativbewerbung เขียนอย่างไร
หลักเกณท์พื้นฐานของการเขียนใบสมัครงานแบบนี้ ไม่ได้มีความแตกต่างกับการส่งใบสมัครแบบธรรมดามากนัก แต่เนื่องมากจากเราไม่มีข้อมูลอ้างอิงจากตำแหน่งงานที่บริษัทประกาศรับสมัคร การเขียนจดหมายสมัครงาน (Anschreiben) จึงเป็นการเขียนแสดงความต้องการและแรงจูงใจที่คุณมีมากกว่า
ดังนั้น คุณสามารถกำหนดรูปแบบได้อย่างอิสระมากขึ้น เช่น คุณสามารถมุ่งความสนใจไปที่ความกระตือรือร้นในการทำงาน บุคลิกภาพ หรือ เน้นไปที่คุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นของคุณจริงๆ
หากคุณมีบริษัทในฝัน และอยากเข้าทำงานที่นั้นจริง ๆ การสมัครแบบนี้เป็นทางเลือกที่ดี เว้นแต่บริษัทจะปฏิเสธและแจ้งไว้อย่างชัดเจนว่าไม่รับใบสมัครในตำแหน่งอื่นที่ไม่ได้มีการลงประกาศรับสมัคร
4 เทคนิค เขียนจดหมายสมัครงาน (Anschreiben) หรือ จดหมายแสดงถึงแรงจูงใจ (Motivationsschreiben) ที่จะประสบความสำเร็จได้ ควรจะประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้
1️⃣ ทำไมคุณถึงอยากทำงานกับบริษัทนี้ และคุณมีความสัมพันธ์ของคุณกับบริษัทอย่างไร เช่น เคยใช้สินค้าของบริษัทมาตลอดและชื่นชอบมาก
4️⃣ คุณมีประสบการณ์และทักษะอะไรบ้าง และสามารถใช้ความสามารถเหล่านี้ได้ดีที่สุดอย่างไร
3️⃣ คุณจะใช้ความสามารถ ทักษะ และ ประสบการณ์ที่คุณมีเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทอย่างสุงสุดได้อย่างไร ทำไมบริษัทถึงควรจะจ้างคุณ
4️⃣ คุณต้องการทำงานในด้านไหน และคุณมีเป้าหมายใดในการทำงาน
สิ่งที่คุณควรพิจารณาในการเตรียมตัวเพื่อเขียนจดหมายสมัครงาน (Anschreiben)
การส่งใบสมัครงาน สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมี คือ จดหมายสมัครงาน (Anschreiben) คุณควรมีการเตรียมการเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะลงมือเขียนจดหมายสมัครงาน เพราะถ้าคุณไม่มีการค้นคว้าข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งงานที่จะสมัครล่วงหน้าก่อนลงมือเขียนล่ะก็ คุณจะไม่รู้ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง และต้องการพนักงานที่มีลักษณะอย่างไร หรือคุณสมบัติแบบไหน นอกจากนี้การหาข้อมูลล่วงหน้ายังจะช่วยให้คุณสามารถให้ข้อโต้แย้งที่น่าเชื่อถือได้ว่า เพื่อโน้มน้าวฝ่ายบุคคลว่า คุณคือพนักงานที่มีคุณสมับัติอย่างที่บริษัทกำลังมองหา และเขาควรจะต้องจ้างงานคุณ
นี่คือข้อมูลที่คุณควรรู้ ก่อนลงมือเขียนจดหมายสมัครงาน
- ข้อมูลเบื่องต้นเกี่ยวกับบริษัท เช่น บริษัททำธุรกิจประเภทไหน มีสินค้า หรือ บริการอะไรบ้าง แล้วสินค้าหรือบริการดังกล่าวจำหน่ายผ่านช่องทางไหนบ้าง
- บริษัทต้องการพนักงงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้สามารถดูได้จากตำแหน่งงานต่างๆที่บริษัทลงประกาศรับสมัคร ถึงแม้ว่าตำแหน่งงานจะไม่ตรงกับตำแหน่งที่คุณต้องการก็ตาม
- ตำแหน่งไหนที่บริษัทกำลังเปิดรับสมัคร เพื่อให้ทราบว่า บริษัทกำลังต้องการพนักงานในงานด้านไหน หรือ บริษัทกำลังขยายตัวไปทางด้านไหน
- ติดตามข่าวสารของบริษัทผ่านทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อให้ทราบว่าบริษัทให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง หรือ มีโครงงานอะไรที่สำคัญบ้าง
- ปรัชญาของบริษัท อะไรที่ถือเป็นหัวใจหลักของบริษัท
- คุณต้องส่งเอกสารสมัครงานไปที่ใคร
การสมัครงาน หรือ ตำแหน่งสำหรับทำเรียนต่อสายอาชีพ บางคนโชคดีได้ที่ทำงานเร็ว บางคนต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ก็มี สิ่งที่ควรจะมีคือการวางแผนล่วงหน้าที่ดีพอสมควร
คำแนะนำที่ดีที่สุด คือ ถ้าคุณไม่แน่ใจลองสมัครดูทั้ง 2 แบบเลยค่ะ และพยายามให้ถึงที่สุดค่ะ เพราะคุณอาจจะโชดดี บริษัทในฝันของคุณตอบรับ และนัดหมายการสัมภาษณ์งาน เพื่อทำความรู้จักคุณมากขึ้นเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้
สู้ๆค่ะ เราเชื่อว่าคุณต้องทำได้อย่างแน่นอน
Leave a Review